Gini วัดความเหลื่อมล้ำได้ยังไง

--

วันก่อนเห็นข่าวว่าอัตราความยากจนของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.2% ในปี 2015 เป็น 9.8% ในปี 2018 แล้วก็รู้สึกใจหาย เพราะปัญหาความยากจนที่ควรจะเป็นปัญหาแรก ๆ ที่ได้รับการแก้ไขกลับกำลังแย่ลง

สึ่งที่ข่าวไม่ได้บอกก็คือเส้นแบ่งว่าใครจะจนหรือไม่มีค่าเท่าไหร่ เมื่อลอง Google ดูก็พบว่าเส้นแบ่งโดยวัดจากรายจ่ายรายเดือนของไทยอยู่ที่ 2,644 บาทต่อคนต่อเดือน (ตัวเลขล่าสุดปี 2015)

ค่าใช้จ่ายประมาณ 2,700 บาทต่อเดือน ทำให้คนที่อยู่บนเส้นแบ่งสามารถทานข้าว 3 มื้อ ๆ ละ 30 บาท ทุกวัน ได้พอดิบพอดี ไม่เหลือให้ทำอะไรอย่างอื่น ไม่มีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต อะไรทั้งสิ้น

สำหรับหลายคน เงินจำนวนเดียวกันนี้อาจเป็นเพียงค่าสมาชิกฟิตเนสที่เอาไว้เข้าคลาสบอดี้ปั๊ม หรือเป็นค่าเครื่องกรองอากาศป้องกันฝุ่น PM 2.5

แต่…ในขณะเดียวกันยังมีคนไทย (และเพื่อนร่วมชาติ) ประมาณ 1 ใน 10 ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งนี้

ก่อนที่จะเศร้าไปมากกว่านี้ ไปดูกันก่อนว่าเราจะวัดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร

Gini index

ปกติเวลาที่เราจะเปรียบเทียบอะไรซักอย่างก็มักจะวัดความแตกต่างใช่ไหมครับ เช่น คนที่รวยที่สุดมีรายได้มากกว่าคนที่จนที่สุดเท่าไหร่ หรือ รายได้รวมของคน 10 % ที่รวยที่สุดมากกว่ารายได้รวมของคน 10% ที่จนที่สุดกี่เท่า

วิธีวัดแบบนี้มีข้อจำกัดคือ เราต้องเลือกว่าจะเอาข้อมูลส่วนไหนมาวัด (เช่น 10% หรือ 20% แรก) โชคดีที่ในปี 1912 คอร์ราโด จีนี (Corrado Gini) นักสถิตชาวอิตาลีได้คิดวิธีวัดความเหลื่อมล้ำที่ครอบคลุมข้อมูลทั้งหมดไว้รวดเดียว

ตัววัดที่ว่าก็เรียกตามชื่อเขาว่า Gini ซึ่งแม้จะมีความพิเศษ แต่ก็ไม่ได้มาจากชื่อยักษ์วิเศษในเรื่องอะลาดิน (อันนั้นชื่อ Genie)

แล้ว Gini ทำงานยังไง?

เราจะเริ่มโดยการวาดกราฟแสดงว่าคนที่จนที่สุด x% แรก มีรายได้รวมกันเป็น y% เช่น

  • คนจนที่สุด 10% แรกมีรายได้รวมกันเป็น 3.0% ของรายได้ทั้งหมด
  • คนจนที่สุด 20% แรกมีรายได้รวมกันเป็น 7.3% ของรายได้ทั้งหมด
  • คนจนที่สุด 40% แรกมีรายได้รวมกันเป็น 18.4% ของรายได้ทั้งหมด
  • คนจนที่สุด 60% แรกมีรายได้รวมกันเป็น 33.9% ของรายได้ทั้งหมด
  • คนจนที่สุด 80% แรกมีรายได้รวมกันเป็น 55.9% ของรายได้ทั้งหมด
  • คนจนที่สุด 90% แรกมีรายได้รวมกันเป็น 72.6% ของรายได้ทั้งหมด
  • สุดท้าย แน่นอนว่าคนทั้งหมด 100% ก็ต้องมีรายได้รวมกันเป็น 100% ของรายได้ทั้งหมด

ซึ่งกราฟที่จะได้ก็จะมีหน้าตาประมาณเส้นสีม่วงในกราฟด้านล่าง ซึ่งเส้นนี้เราเรียกว่าเส้นโค้งลอเรนซ์ (Lorenz curve) ตามแม็กซ์ ลอเรนซ์ (Max Lorenz) นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันคนคิด

ตอนนี้เรามาลองคิดเล่น ๆ กันก่อนว่า ถ้าสมมติว่าทุกคนมีรายได้เท่ากันหมด กราฟจะมีหน้าตายังไง?

มันก็น่าจะเป็นเส้นสีเขียวใช่ไหมครับ เพราะคน 10% แรกจะมีรายได้ 10% จากรายได้ทั้งหมด คน 20% แรกก็จะมีรายได้ 20% จากรายได้ทั้งหมด แบบนี้เรื่อยไป เราเรียกเส้นนี้ว่าเส้นแห่งความเท่าเทียม (line of equality)

แล้วในกรณีตรงข้ามที่มีคนรวยที่สุดคนเดียวฮุบรายได้ทั้งหมดเอาไว้ ส่วนคนที่เหลือมีรายได้เป็น 0 ล่ะ กราฟจะมีหน้าตายังไง?

มันก็คงเป็นเส้นสีแดง เพราะคน 99.9999% แรกจะมีรายได้รวมกันเป็น 0% จากรายได้ทั้งหมด แต่พอรวมคนที่รวยอยู่คนเดียวปุ๊บ รายได้รวมก็จะกระโดดเป็น 100% เลย เราจะเรียกเส้นนี้ว่าเส้นแห่งความไม่เท่าเทียม (line of inequality) ล่ะกัน

วิธีวัดค่า Gini ก็คือการเอาพื้นที่ A (ระหว่าง line of equality กับ Lorenz curve) มาหารด้วยพื้นที่ A + B (พื้นที่สามเหลี่ยมที่ล้อมรอบด้วย line of equality กับ line of inequality)

  • รายได้กระจายสม่ำเสมอ Lorenz curve ก็จะขยับเข้าใกล้ line of equality ทำให้พื้นที่ A มีขนาดลดลง และค่า Gini ซึ่งเท่ากับ A / (A + B) มีค่าใกล้ 0%
  • แต่ถ้ารวยกระจุกจนกระจายอย่างที่เขาว่ากัน เส้น Lorenz ก็จะขยับเข้าใกล้ line of inequality ทำให้พื้นที่ A มีมากขึ้น และค่า Gini ซึ่งเท่ากับ A / (A + B) มีค่าใกล้ 100%

แปลว่าค่า Gini ยิ่งน้อย ยิ่งดี ยิ่งเหลื่อมล้ำน้อย

ค่า Gini Index ที่ประกาศโดยธนาคารโลก เอาค่า Gini มาคูณ 100 เพราะฉะนั้นจะมีค่าอยู่ในช่วง 0 ถึง 100 แทนที่จะเป็น 0% ถึง 100%

Gini index ของไทยเป็นเท่าไหร่

ค่า Gini index ของไทยปี 2017 อยู่ที่ 36.5 เพิ่มจากปี 2015 ที่ 36.0 ใช่แล้วครับ…แปลว่าความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น

เมื่อดูจากความยากจนที่เพิ่มเป็น 9.8% ในปี 2018 จาก 7.2% ในปี 2015 ผมก็ขอเดาว่าค่า Gini index ปี 2018 ถ้าประกาศออกมาน่าจะสูงขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าประเทศไทยโดยรวมจนลงนะครับ เพราะ GDP ของประเทศก็เพิ่มขึ้นทุกปี ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นทุกปี

แต่ความยากจนที่เพิ่มขึ้นมาจากความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น

เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก ค่า Gini index ของไทยก็เรียกว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ

ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสุดขั้วอย่างแอฟริกาใต้มีค่า Gini index มากถึง 63.0 (ปี 2014) ในขณะที่ประเทศที่มีความเท่าเทียมอย่างฟินแลนด์มีค่า Gini index ที่ 27.1 (ปี 2015)

Gini index ของโลกล่ะ?

ให้ทายว่าถ้าเอาคนทั้งโลกมารวมกัน ค่า Gini index จะเป็นเท่าไหร่?

Gini index ของโลกปี 2013 มีค่าสุดโต่ง่ที่ 62!

เรียกว่าความเหลื่อมล้ำของโลกนั้นเทียบเคียงได้กับความเหลื่อมล้ำในประเทศแอฟริกาใต้

แต่…ทำไมค่า Gini index ของโลกถึงไม่อยู่แถว ๆ ค่าเฉลี่ยของ Gini index ทุกประเทศ?

ก็เพราะว่า แม้ว่าความเหลื่อมล้ำภายในประเทศจะมีมากแล้ว แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศนั้นยิ่งกว่ามาก

ข้อความในบทความของ ourworldindata สะท้อนความเป็นจริงนี้ได้เป็นอย่างดีว่า

It is not who you are, but where you are

อืม…อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด

--

--

คเณิร์ตศาสตร์
คเณิร์ตศาสตร์

Written by คเณิร์ตศาสตร์

คณิตศาสตร์และเรื่องสนุกอื่นๆ